วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555


นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษา
                นวัตกรรม
นวัตกรรม เดิมใช้คำว่า นวกรรม ซึ่งคำว่า นวกรรม มาจากคำบาลีสันสฤต คือ
นว หมายถึง ใหม่ และ กรรม หมายถึง ความคิด การปฏิบัติ
นวัตกรรม หมายถึงการทำสิ่งต่างๆด้วยวิธีใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติการเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน หรือการพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ มักมีการแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการประดิษฐ์คิดค้น ความคิดริเริ่ม และนวัตกรรม อันหมายถึงความคิดริเริ่มที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล (Mckeown, 2008) และในหลายสาขา เชื่อกันว่าการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นนวัตกรรมได้นั้น จะต้องมีความแปลกใหม่อย่างเห็นได้ชัด และไม่เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นต้นว่า ในด้านศิลปะ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐ ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเพิ่มมูลค่า มูลค่าของลูกค้า หรือมูลค่าของผู้ผลิต เป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆเกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นวัตกรรมก่อให้ได้ผลิตผลเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาสำคัญของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

เทคโนโลยีสารสนเทศ
คำว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ มาจากคำ 2 คำนำมารวมกัน คือ คำว่า เทคโนโลยี และสารสนเทศ
เทคโนโลยี + สารสนเทศ = เทคโนโลยีสารสนเทศ
เมื่อพิจารณาความหมายของแต่ละคำจะมีความหมายดังนี้
เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ เทคโนโลยีจึงเป็นวิธีการในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ข้อมูลดังกล่าวต้องผ่านการเก็บรวบรวม จัดเก็บ ตรวจสอบความถูกต้อง แบ่งกลุ่มจัดประเภทของข้อมูล และสรุปออกมาเป็นสารสนเทศ และมนุษย์นำเอาสารสนเทศนั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น รายงาน ผลงานการวิจัย ข่าวสารต่าง ๆ
เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) หมายถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่จะรวบรวม จัดเก็บ ใช้งาน ส่งต่อ หรือสื่อสารระหว่างกัน เทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวข้องโดยตรงกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดการสารสนเทศ ซึ่งได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์รอบข้าง ขั้นตอน วิธีการดำเนินการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ เกี่ยวข้องกับตัวข้อมูล เกี่ยวข้องกับบุคลากร เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีการดำเนินงานเพื่อให้ข้อมูลเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึง โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ โทรสาร หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ ฯลฯ

การศึกษา
ความหมายการศึกษา
คำว่า " การศึกษา " พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า " การเล่าเรียน การฝึกอบรม " เป็นคำที่ใช้ในความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Education" ซึ่ง คาร์เตอร์ วี. กูด ( Good. 1973 : 202 ) ได้ให้ความหมายไว้ในพจนานุกรมศัพท์การศึกษา 4ประการ โดยสรุป คือ
                1. การศึกษา หมายถึง การดำเนินการด้วยกระบวนการทุกอย่าง ที่ทำให้บุคคลพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ รวมทั้งทัศนคติและพฤติกรรมอื่นๆ ตามค่านิยมและคุณธรรมในสังคม
                2. การศึกษา หมายถึง กระบวนการทางสังคม ที่ทำให้บุคคลได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ที่คัดเลือกและกำหนดไว้อย่างเหมาะสมโดยเฉพาะโรงเรียน เพื่อพัฒนาบุคคลและสังคม
                3. การศึกษา หมายถึงวิชาชีพอย่างหนึ่งสำหรับครู หรือการเตรียมบุคคลให้เป็นครู ซึ่งจัดสอนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย วิชาจิตวิทยาการศึกษา ปรัชญา ประวัติการศึกษา หลักสูตร หลักการสอน การวัดผล การบริหาร การนิเทศการศึกษา และวิชาอื่นๆ ที่ครูควรรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญงอกงามสำหรับครู
                4. การศึกษา หมายถึง ศิลปในการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ในอดีต ซึ่งรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบสำหรับคนรุ่นใหม่
 
นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาอีกจำนวนมาก ที่ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ตามแนวคิด ความเชื่อที่แตกต่างกันของแต่ละคน เช่น
การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
การศึกษา คือ ชีวิต และชีวิตคือการศึกษา
การศึกษา คือ การพัฒนาคน
การศึกษา คือ การเสริมสร้างความรู้ ความคิด ทักษะและเจตคติ
การศึกษา คือ การแก้ปัญหาของมนุษย์ให้หลุดพ้น และเข้าถึงสิ่งดีงาม
การศึกษา คือ การถ่ายทอดแนวคิด ความเชื่อ พฤติกรรม ศิลปวัฒนธรรม
การศึกษา คือ การเตรียมตัวสำหรับการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์
" การศึกษา" ตามความหมายที่ถูกต้อง คือความหมายที่ตรงกับความหมายของคำในภาษาอังกฤษว่า "Education" ในภาษาไทย บางครั้งคนทั่วไปใช้คำว่าการศึกษาในความหมายที่คาดเคลื่อน คือ นำไปใช้ในความหมายของ คำว่า การเรียนรู้ (Learning) และคำว่า การศึกษาค้นคว้า (Study) ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ การเรียนรู้ หมายถึงการแปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางดีหรือทางไม่ดีก็ได้ แต่คำว่า "การศึกษา" หมายถึงเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นไปในทางที่ดีและสังคมยอมรับเท่านั้น ส่วนคำว่า "การศึกษาค้นคว้า" หมายถึงการเสาะแสวงหรือค้นหาความรู้
ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาในอดีตถือว่า การศึกษาเกิดขึ้นได้เฉพาะในสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น การศึกษาเริ่มต้นเมื่อเข้าโรงเรียนตามอายุที่กำหนด และสิ้นสุดการศึกษาเมื่อออกจากโรงเรียน ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงการเข้าเรียนนั้นสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต ผู้ที่เรียนหนังสือในโรงเรียนเป็นเวลานาน จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง ส่วนคนที่เรียนในโรงเรียนในเพียงระยะสั้น หรือไม่เคยเข้าโรงเรียนเลยก็ได้ชื่อว่าเป็นคนการศึกษาต่ำหรือไร้การศึกษา สถานศึกษาจึงกลายเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง ในการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งความคิดเช่นนี้ ในปัจจุบันไม่อาจใช้ได้ ทั้งนี้เพราะสภาพสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนสามารถรับการศึกษาได้จากหลายทาง ความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับจากการศึกษาในโรง เรียน สามารถนำไปใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปความรู้เดิมอาจไม่สามารถใช้ได้ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มอยู่ตลอดเวลา ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ตั้งแต่ก่อนวัยเข้าโรงเรียนหรือผ่านพ้นวัยที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาอยู่เสมอ

นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
 เนื้อหาวิชาที่นำมาใช้ประกอบการนำเสนอในเว็บไซต์นี้ได้รวบรวมมาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนอาจไม่ครอบคลุมเนื้อหา  จึงขอใช้สื่อนี้เป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป